The Present Move

คุยกับ เปา-ชัยยะ ฤดีนิยมวุฒิ ผู้ริเริ่มเพจ MOODY ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นพลังในการคุยเรื่องสุขภาพจิต

The Present Move | Mindful Global Citizens

ความรู้สึกข้างใน ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเติบโต 🍿

คือคำแนะนำตัวเองในหน้า bio ของ MOODY หนึ่งเนื้อหาเชิงจิตวิทยาที่ BrandThink กำลังปลุกปั้น 

หลายท่านอาจคุ้นเคยกับเจ้ามาสคอตตัวอ้วนสีม่วงอมชมพูและสีเขียว มีสองมือและสองขา บนหัวของเจ้าน้องตัวนั้นมักมีเส้นหยักๆ อันเป็นเอกลักษณ์ในทุกครา และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้คือเจ้ามาสคอตที่หลายคนอาจไม่ทราบว่า เจ้าคนนี้ก็มีชื่อเล่นอยู่เหมือนกัน

MOODY คือเพจและคอลัมน์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของความรู้สึกภายใจ ปัญหาจิตใจ และการเติบโต ที่เป็นส่วนหนึ่งจาก BrandThink ซึ่งแน่นอนว่า เป็นสื่อที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความครีเอทีฟและปลุกปั้นงานในหลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว

The Present Move จึงชวนคุยกับ คุณเปา-ชัยยะ ฤดีนิยมวุฒิ บรรณาธิการบริหาร BrandThink และผู้ริเริ่มก่อตั้ง MOODY กับเรื่องราวว่าด้วยเส้นทางที่เริ่มต้นจากความสนใจส่วนตัว สู่คอนเทนต์ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกกับสังคม และนำมาสู่การจัดงานอีเวนต์ ‘Mind Day : ภูมิคุ้มใจ’ ในเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป

| จุดเริ่มต้นจาก Pop Science สู่คอนเทนต์จิตวิทยาสายฮีลใจ

โปรเจกต์ MOODY เกิดขึ้นจากชัยยะเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งก่อนจะขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหารนั้น เขาเองก็เคยเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาก่อน และเนื้อหาแนววิทยาศาสตร์กระแสนิยม (Popular Science หรือ Pop-Sci) ก็เป็นอีกแนวทางเนื้อหาที่เขาสนใจเป็นพิเศษ

“ประมาณเมื่อ 5-6 ปีก่อนหน้าเนื้อหาเชิง Pop-Sci เป็นสิ่งที่ผมสนใจ เพราะมันสามารถอธิบายอะไรสนุกๆ ได้ เช่น เพราะอะไรคนเราจึงชอบดื่มน้ำหวาน เพราะเหตุเมื่อคนเราตกหลุมรักเราจึงคล้ายกับคนตาบอด เราก็เอ็นจอยกับคอนเทนต์แนวนี้มาเรื่อยๆ” ชัยยะเล่าด้วยรอยยิ้ม

“จนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งเราเริ่มสังเกตว่า คนใกล้ตัวหลายคนที่เราสนิทด้วย ทั้งญาติ เพื่อน หรือคนรู้จักเริ่มเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขามีสุขภาพจิตที่ดีมากๆ มาตลอด จึงเริ่มคิดว่าเรื่องโรคซึมเศร้าเป็นอะไรที่ใกล้ตัวมากขึ้น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ค่อยมีพื้นที่พูดคุยเรื่องพวกนี้ด้วยอะไรที่เข้าใจง่ายๆ และไม่เป็นวิชาการมากจนเกินไปนัก เลยเกิดมาเป็นไอเดียในการทำเพจนี้”

“เราคิดว่าเราไม่ได้ qualified มากพอที่จะเล่าถึงเรื่องปัญหาสุขภาพจิต (Mental Illness Issue) ได้เต็มปากเต็มคำขนาดนั้น จึงตั้งต้นว่าอยากชวนพูดคุยถึง ‘สภาวะ’ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่มันจะพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตแทน และเราอยากหาพื้นที่ให้ทุกคนมาพูดคุยกัน บวกกับพี่ลัก (เอกลักญ กรรณศรณ์  Managing Director ของ BrandThink) อยากลองให้มีช่องทางการเล่าเรื่องที่หลากหลายด้วย MOODY จึงกลายมาเป็นหนึ่งในเส้นทางของเรานับแต่นั้น

MOODY จึงเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2562 โดยที่ในช่วงแรกนั้นเริ่มจากการเป็นหนึ่งในคอลัมน์ของ BrandThink ก่อน และเมื่อผลตอบรับดีจึงได้ขยับขยายมาเป็นเพจในอีก 2 ปีถัดมา

หากมองในแง่ของคำ ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยเหมือนเราว่า ‘MOODY’ ดูเหมือนจะเป็นคำที่พูดถึงอารมณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร และเพราะอะไรจึงเลือกคำนี้มาใช้? 

“สำหรับเราคำว่า MOODY ไม่ได้เป็นคำที่มีความหมายแง่ลบขนาดนั้น แต่เรามองว่า MOODY คืออารมณ์ที่หลากหลาย และเราตั้งใจเล่าถึงอารมณ์ในทุกลักษณะ ทั้งบวก ลบ ดี ร้าย เศร้า เหงา และรัก เลยรู้สึกว่าคำนี้แหละ กระชับ โดนใจ ใช่เลย!”

ด้วยกลิ่นอายการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของ BrandThink บวกกับความครีเอทีฟที่พิถีพิถันตั้งแต่คัดเลือกประเด็นและรูปแบบในการนำเสนอ นั่นจึงทำให้การเล่าเรื่องแบบ Pop-Sci แบบ MOODY ถูกจดจำอย่างรวดเร็ว อีกทั้งชัยยะยังเสริมว่า เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการทำเนื้อหาเชิงนี้ที่นอกจากจะสนุกแล้วนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นหรือเป็นข้อเท็จจริงบางอย่างที่มนุษย์เราล้วนประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน นั่นจึงทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับอะไรเหล่านี้ได้ไม่ยากเพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ใกล้ตัว

| ‘น้องมู้ดดื้อ’ เจ้ามาสคอตเด็กดีที่ MOODY ใช้เป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง

ดังที่กล่าวไปช่วงต้น หากสังเกตดูจะพบว่างานวาดภาพประกอบ (illustration) ถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ MOODY ใช้ในการเล่าเรื่องให้เป็นภาพ

BrandThink สร้างสรรค์เนื้อหาหลากหลายรูปแบบมากๆ และเรารู้สึกว่างานเชิงจิตวิทยาหรือการสื่อสารเรื่องอารมณ์และการเติบโตนั้นแทบจะหาภาพ (photo) ที่มาใช้เล่าเรื่องได้ยากมากเลย

“เช่น สมมติเราอยากพูดถึง Imposter Syndrome ถ้าหาภาพมาใช้ก็จะเป็นภาพคนหน้าเศร้าๆ ซึ่งจะออกมาแข็งๆ และไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกที่เป็นแก่นของเนื้อหาออกไปได้จริงๆ”

“แต่ในทางกลับกันผมมองว่า ภาพประกอบสามารถใช้ลายเส้นเล่าเรื่องที่นามธรรมเหล่านี้ได้อย่างดี เราสร้างบริบท ความเป็นอยู่ ท่าที และสีหน้าได้ เราครีเอทีฟกับมันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และถึงจะเป็นการเพิ่มต้นทุนและลงทุนไปกับเวลาที่มากขึ้น แต่ผมว่ามันก็คุ้มนะ”  ชัยยะว่า

และสำหรับเจ้ามาสคอตคาแรคเตอร์ตัวนี้ ชัยยะได้ตั้งชื่อให้แบบน่ารักๆ ว่า ‘น้องมู้ดดื้อ’ โดยเอาไว้เรียกกันแบบเป็นกันเองเล่นๆ มากกว่า

“ถึงจะชื่อ มู้ดดื้อ แต่จริงๆ ก็ไม่ดื้อหรอกครับ น่ารักดี ช่วยทำมาหากินทุกวัน” เขาว่าพร้อมรอยยิ้ม

และถึงแม้น้องมู้ดดื้อจะเปลี่ยนลายเส้นมาหลายแบบเพราะเป็นช่วงของการลองผิดถูกและพัฒนาลายเส้นไปเรื่อยๆ แต่หากให้อธิบายความเป็นตัวตนของคาแรคเตอร์ ก็สามารถบอกได้ว่าน้องไม่ได้เป็นคาแรคเตอร์ที่จำกัดว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง ด้วยเหตุผลที่ชัยยะให้เอาไว้ว่า เขาอยากให้เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคนโดยไม่จำกัดเพศ ถึงตัวมาสคอตจะเป็นสีชมพูแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นเพศใด 

“และถ้าสังเกตดูจะพบว่า น้องอ้วนและเตี้ยลงเรื่อยๆ เพราะเราอยากให้น้องดูน่าเอ็นดูแบบที่เราเอ็นดูน้องนั่นแหละ” 

| ความท้าทายในการสร้างคอนเทนต์ยุคที่สื่อต้องปรับตัว และโลกออนไลน์หมุนไวและเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับการสื่อสารในประเด็นเรื่องสุขภาพจิต (Mental Health) ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ปรวนแปรอย่างรวดเร็ว ชัยยะมองว่าเป็น ‘ความท้าทาย’ มากกว่าเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร

หนึ่ง ในฐานะนักเขียนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ไมได้เป็นนักวิชาการหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การสื่อสารข้อมูลในประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวัง

“ในบางครั้งการนำเสนอข้อมูลของเราไม่ได้ผิด แต่เมื่อเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหว (sensitive) หรืองานวิจัยที่เราใช้อ้างอิงกลับเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) แล้วพอเรามองว่าเป็นคอนเทนต์มากเกินไป สนุกกับการตั้งเฮดไลน์ใดๆ นั่นอาจทำให้เกิดผลกระทบหากไม่ระวังในการนำเสนอ

“แต่ถึงอย่างนั้นเราก็พบว่า ในวันที่เราระวังมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เนื้อหาแข็งกระด้างเช่นกัน” ชัยยะเล่าต่อ

สอง ข้อมูลเชิงลึก (insight) คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไม่ว่าจะในรูปแบบใด และนำเสนอประเด็นไหน

“เราอาจจะไม่ได้เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่แกะตัวตนของตัวเองออกมาทำงานขนาดนั้น แต่เราใช้ตัวเองเป็นไม้บรรทัดเป็นตัววัดและเปรียบเทียบว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตรงกับ insight ไหม

“เช่น เมื่อทำเนื้อหาพูดถึงมวลสภาวะอารมณ์บางอย่าง เราก็จะมาเช็กกับตัวเองก่อน ถ้ารู้สึกว่า เออ ใช่ว่ะ เคยรู้สึกอย่างนี้ ดังนั้นเนื้อหาเหล่านี้ก็อาจจะสมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนหมู่มากรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมมองว่า MOODY เป็น Communucator ดังนั้นเราจึงมีความเป็น ‘ตัวกลาง’ มากกว่าจะเอาความเป็นส่วนตัวของเราไปใส่” ชัยยะว่า

เขาเล่าต่อถึงข้อดีของการสร้างสรรค์เนื้อหาประเภทนี้ว่า การสร้างสรรค์เนื้อหาเช่นนี้ทำให้รู้สึกราวกับว่าไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีใครอีกหลายคนที่เป็นเหมือนกันและต้องการกำลังใจอยู่มาก และในบางครั้งการเชื่อในข้อมูลเชิงลึกของตัวเองมากๆ นั้นก็ยิ่งทำให้ประหยัดเวลาในการทำงาน

MOODY สามารถทำงานได้โดยใช้นักเขียน 1 คน และนักวาดภาพประกอบหรือกราฟิกดีไซเนอร์อีก 1 คนเพียงเท่านั้นในสเกลงานคอนเทนต์รายชิ้น โดยที่ชัยยะให้เหตุผลว่า หากปรึกษากับคนอื่นหรือต้องการฟีดแบคมากเกินไป นั่นอาจทำให้รู้สึกไข้เขวตอนที่จะนำเสนอเนื้อหาได้

หลังจากคลำทางประเด็นเนื้อหาและลองผิดถูกมาสักพัก เมื่อมีการมีส่วนร่วม (engagement) จากผู้อ่านมากขึ้น นั่นก็เริ่มทำให้เขาและทีมเริ่มรู้ว่าประเด็นหรือการเล่าแบบใดที่จะเป็นเอกลักษณ์ ถูกจดจำ และทำงานได้อย่างดีกับผู้อ่าน ราวกับว่าทั้งผู้เขียนและผู้อ่านสามารถ shape เนื้อหาเหล่านี้ไปพร้อมกัน

สาม เมื่อได้ข้อมูลเชิงลึกมาแล้ว การทำความเข้าใจผู้อ่าน (audience) และกลุ่มเป้าหมาย (target group) ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

MOODY พยายามนำเสนอเนื้อหาที่ ‘ครอบคลุม’ กับผู้อ่านในวงกว้างมากกว่าแค่จะจำกัดที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเป็นพิเศษ แม้ว่าในช่วงแรกเนื้อหาที่ริเริ่มจะเป็นข้อมูลเชิงลึกของกลุ่ม First Jobber และ Young Adult ตามตัวตนและประสบการณ์ของผู้ริเริ่มอย่างชัยยะเอง

แต่นั่นก็หมายความว่า เมื่อชัยยะเติบโตขึ้น MOODY ก็จะเติบโตตามเขาไปด้วย

สำหรับช่องว่างระหว่างวัย (generation gap) ถือเป็นปัญหาไหมในการสื่อสารกับผู้อ่าน? เราถามต่อ เขาตอบอย่างน่าสนใจว่า

“ในหลายครั้งเราคุยกันไม่เข้าใจด้วยช่องว่างระหว่างอายุ ไม่ใช่แค่เรื่องของจิตใจแต่รวมไปถึงทุกเรื่องเลย ด้วยภาษา วิถีชีวิต และความเข้าใจระหว่างกัน และเมื่อปูมหลังชีวิตเราต่างกัน เราโตมาแตกต่างกัน ก็ส่งผลให้เรามองโลกไม่เหมือนกันและสื่อสารออกไปต่างกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการที่เราหันมาคุยกันถึงปูมหลังของกันและกันอย่างเข้าใจจะดีกว่า”

| MIND DAY ภูมิคุ้มใจ : จาก Online Content ที่ขยับขยายสู่งาน On Ground Event

หลังจากที่สร้างสรรค์เนื้อหาในสื่ออนไลน์มานาน ก็ถึงเวลาที่ทีม MOODY และ BrandThink จะขยับขยามาสู่การจัดงาน On Ground Event

‘MIND DAY ภูมิคุ้มใจ PRESENTED BY SHISEIDO’ คืองานอีเวนต์ฮีลใจ ที่ชักชวนทุกคนมาสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ต่อยอดสู่ภูมิคุ้มใจผ่านวิธีการที่หลากหลายไปด้วยกัน

งานนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 เวลา 12.00-21.00 น.

ที่ชั้น 5 SPHERE HALL 5M FLOOR และถึงแม้ว่าจะจัดยาวๆ ตลอดทั้ง 1 วัน หากแต่ ผู้พูดทั้ง 13 ท่านจาก 8 เซสชั่น และปิดท้ายด้วย 1 คอนเสิร์ต ก็ทำให้เรานั่งยาวๆ อยู่ที่แห่งนั้นได้ตลอดทั้งวัน ทั้งยังเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงใจและความรู้สึกดีๆ ในการเดินหน้าต่อกับชีวิต

ซึ่งสำหรับจุดเริ่มต้นของการจัดงานนั้น ชัยยะเล่าว่ามาจากการที่เขาสังเกตว่า การบอกเล่าหรือนำเสนอเนื้อหาเรื่องสุขภาพจิตในโลกออนไลน์นั้นมักแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ สายโปรดัคทีฟ (Productive) ที่สร้างแรงจูงใจในบางแง่มุมซึ่งใช้ได้ในการไล่ล่าความสำเร็จเพื่อเติบโต และอีกสายหนึ่งคือสายโอบกอดฮีลใจ (Self-compass) ซึ่งส่วนตัวเขาเอง ก็มองว่าทั้งสองสายนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่เขาเองก็พยายามหาไอเดียที่หลากหลายที่จะนำเสนอแนวทางให้ต่างออกไป หากแต่ยังทัชใจผู้คนส่วนมากได้โดยง่าย

งาน MIND DAY จึงมีจุดตั้งต้นมาเช่นนั้นที่ทางทีม BrandThink ต้องการสร้างสรรค์ให้เวทีทอล์กเป็นมากกว่าแค่การนั่งฟัง หากแต่ประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่ได้เรียนรู้ และสิ่งที่ได้ตกตะกอนของผู้พูดเหล่านั้น ถือเป็นสิ่งที่เขามองในการคัดเลือกนักพูดมาที่งานนี้ 

หากถามว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกจัดรูปแบบงานเป็น Talk Session ที่มีบรรยากาศคล้ายคอนเสิร์ต เขาตอบอย่างน่าสนใจว่า ‘การพูด’ อาจเรียกได้ว่าเป็นฟังก์ชันที่สื่อสารได้อย่างง่ายที่สุด และด้วยการคัดเลือกนักพูดที่บางคนอาจไม่ได้เป็นนักพูดอาชีพ จึงเน้นไปในทางชวนนักพูดมาหลากหลายรูปแบบ และเน้นไปที่เรื่องราวชองแต่ละคนมากกว่า (ซึ่งจะเห็นได้จากนักพูดที่มีตั้งแต่พระสงฆ์ที่เคยเป็นศิลปิน, คนตาบอดที่ทำงานเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ, คุณแม่ที่มีลูกป่วยหนักด้วยสาเหตุอาการที่รักษายาก ฯลฯ) 

“ใครๆ ก็สามารถพูดเรื่องจิตใจได้ และเรามองว่าความหลากหลายคือเสน่ห์” คือสิ่งที่ชัยยะมองว่าคือจุดสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้

เรียกได้ว่าเป็นคำตอบที่ยังคงความครีเอทีฟในแบบฉบับของ BrandThink อยู่เสมอ เราจึงถามต่อถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานอีเวนต์ในครั้งที่ผ่านมา

“อีเวนต์ทำยาก และพอเป็นงานที่สเกลใหญ่ขึ้น เราต้องมี Empathy กับคนทำงานให้มากๆ ตั้งแต่กับนักพูดที่เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักพูดอาชีพและสามารถคุมเวทีอยู่ตลอด 20 นาที และกับคนทำงานในทีมเราก็ต้องเข้าใจพวกเขาให้มากๆ เพราะจะต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา และเรายังต้องทำงานกันต่อในอนาคต 

“อาจเพราะเราอยู่หลังบ้านกันมานานเลยอาจทำให้เราลืมไปว่าปัญหาหน้างานมันเกิดขึ้นได้เยอะมากจริงๆ ผมจึงคิดว่า Empathy เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลย”

“แต่ข้อดีของการทำอีเวนต์คือ มันเกิดขึ้นแล้วจบไป ผมเลยเข้าใจเลยว่าเราไม่ได้มีความจำเป็นต้องไปก่นด่าหรือใส่อารมณ์กับคนทำงานขนาดนั้นเพียงเพื่อจะให้งานมันออกมาดี เพราะทุกคนเต็มที่และอยากให้งานมันออกมาดีอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าทุกคนมีเงื่อนไขที่ต่างกัน และสิ่งที่ทำมาตลอด 3 เดือนอาจจะจบลงภายใน 6 ชั่วโมงด้วยซ้ำ แต่ความรู้สึกต่างๆ ที่คุณทำลงไปมันอาจจะคงอยู่ต่อไป” ชัยยะว่า

‘ใจหาย’ คือความรู้สึกที่เขารู้สึกหลังจากงานอีเวนต์จบลง แต่นั่นก็เป็นการเรียนรู้ที่เขาได้รับและเข้าใจถึงสัจธรรมบางอย่างของการทำงาน ที่เกิดขึ้น จบลง และพิสูจน์อย่างตั้งใจกันใหม่ในโปรเจกต์หน้า

สำหรับในปีหน้า (2568) งาน MIND DAY ภูมิคุ้มใจ จะถูกจัดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งด้วยความตั้งใจของชัยยะและทีม BrandThink ที่กำลังทำการบ้านกันอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนองานอีเวนต์ให้ยิ่งน่าสนใจและมีมิติที่ต่างออกไป และจนกว่าเราจะได้พบกันอีกครั้ง

“เชื่อว่าหลังจากนี้คงได้เห็น MOODY ที่ไม่ได้เป็นแค่คอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคตครับ” ชัยยะกล่าวพร้อมรอยยิ้มเป็นการปิดท้าย

ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา เพราะเรามีความสุขได้ด้วยการ ‘Let Them’ ยอมรับและปล่อยให้พวกเขาได้เป็น และได้ทำอย่างที่ต้องการ

บ่อยครั้งแค่ไหน ที่ใจของเราจับจ้องอยู่กับการกระทำของคนอื่นไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง หรือ แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับเราเลย ตั้่งแต่คนที่เดินสวนกันในที่สาธารณะ

บทเรียนจาก ‘วิชาคนตัวเล็ก’ หนังสือที่ชวนค้นความพิเศษใน ‘ตัวเอง’ ค่อยๆ ละทิ้งชีวิตที่หมุนรอบความคิดคนอื่น

“ฟังหูไว้หู อย่าเชื่อจนหมดใจ” ประโยคนี้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ ‘วิชาคนตัวเล็ก’ โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ไม่โน้มน้าวให้เราเชื่อทุกคำแนะนำที่ปรากฏในหนังสือ แต่ก็โน้มน้าวให้เราอ่านทุกบรรทัดตั้งแต่หน้าแรกจนจบหน้าสุดท้ายได้ในเวลาอันรวดเร็ว

Lagom ปรัชญาว่าด้วยทางสายกลางที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เพราะความ ‘พอดี’ นั้นดีที่สุด

เพราะความพอดีอาจไม่ได้มีหน้าตาที่ตายตัวแต่เป็นความรู้สึกที่เราย่อมสัมผัสกับมันได้เมื่อเกิดความพอดีที่แท้จริง