The Present Move

คุยกับ Hear & Found ถึงชีวิตที่เรียนรู้ผ่าน ‘เสียง’

The Present Move | Mindful Global Citizens

เพราะหากเพียงใช้แค่ตามอง
เราอาจพลาดสิ่งสำคัญบางอย่างไป

เช้าวันที่เรานัดพบกับ เม-ศิรษา บุญมา และ รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ พระอาทิตย์สาดแสงอ่อนกำลังดี ใต้เงาร่มไม้ปรากฏร้านกาแฟเล็กๆ ที่เป็นจุดนัดพบ บทสนทนาของเรากับสองสาวผู้ก่อตั้ง Hear & Found เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเครื่องชงกาแฟสลับกับเสียงใบไม้ลู่ลม บรรยากาศสงบราวกับไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง เหมาะจะเป็นวันที่เราคุยกันเรื่อง ‘เสียง’ อย่างแท้จริง

ในขวบปีที่ 6 นั้น Hear & Found เป็นที่รู้จักของหลายคนในหลากหลายนิยาม นักเก็บเสียงจากชนเผ่าและคนกลุ่มน้อย เจ้าของแพลตฟอร์มที่รวบรวมเสียงเหล่านั้นมาเผยแพร่ ผู้จัดงานคอนเสิร์ตดนตรีชาติพันธุ์ ฯลฯ เมกับรักษ์บอกเราว่าที่ร่ายมานี้ถูกต้องทั้งหมด 

“เราอยากให้คนในสังคมได้เข้าใจชนเผ่าพื้นเมืองและคนกลุ่มน้อยมากขึ้น และอยากให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมยังอยู่ได้ในประเทศนี้” ความตั้งใจในวันแรกที่ก่อตั้งเป็นอย่างไร ทั้งสองบอกว่าวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น

ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้น เมกับรักษ์รู้จักกันผ่านการทำงานกับ Local Alike สตาร์ทอัพที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน เมเป็นนักอัดเสียง (Field Recordist) ที่หลงใหลในเสน่ห์ของวัฒนธรรมอันหลากหลายอยู่แล้ว ส่วนรักษ์ก็ชอบออกค่ายอาสา เรียนรู้ชุมชนมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย จากการขึ้นเหนือล่องใต้ไปด้วยกัน ทั้งคู่มองเห็นว่าวัฒนธรรมและเสน่ห์บางอย่างของชุมชนคนกลุ่มน้อยกำลังจะหายไป ไม่มีใครสืบสานหรือนำมาเผยแพร่ต่อ

มากกว่านั้น พวกเธอเจอปัญหาว่าหลายคนในสังคมเข้าใจกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองผิดไปหลายประเด็น Hear & Found จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้มายาคติทั้งหมดที่ว่ามา

เมและรักษ์เดินทางไปยังชุมชนต่างๆ เพื่ออัดเสียง เสียงบางอย่างนำไปใช้ในนิทรรศการ บางเสียงเผยแพร่ในสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงของ Hear & Found เองให้คนทั่วโลกได้เข้าถึง สร้างรายได้ให้กับพี่ๆ เพื่อนๆ กลุ่มชาติพันธุ์ผู้เป็นต้นทาง  นอกจากนี้ยังมีเทศกาลดนตรีที่ชวนพวกเขามาเล่นดนตรีพื้นถิ่นอยู่เรื่อยๆ

วันนี้ เราจึงมาคุยกันเรื่อง ‘เสียง’

ตั้งแต่เรื่องเสน่ห์ของเสียงที่พวกเธอค้นพบ หลงใหล และพยายามทำให้มันไม่หายไป ไปจนถึงบทเรียนชีวิตที่เมกับรักษ์ได้เรียนรู้จากเสียง และเส้นสายความสัมพันธ์อันแข็งแรงของพวกเธอกับคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลาย

| หลายปีที่ผ่านมา Hear and Found เติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง

เม : ปีแรกๆ เราเข้าไปทำงานกับนักดนตรีอย่างเดียว เพราะเราจบดนตรีมาด้วย รักษ์ก็ทำงานสื่อสารอยู่แล้ว เราพบว่าดนตรีเป็นการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่า คำสอน คำพูด ผ่าน หลังจากนั้นเราเริ่มทำงานกับกลุ่มหลายกลุ่มในชุมชน เช่น นักปราชญ์ แม่บ้าน ทำให้เราได้เรียนรู้มิติอื่นๆ ของพวกเขาและสามารถนำมาสื่อสารได้หลายมุมมากขึ้น 

ไม่ใช่แค่ฝั่งพี่ๆ ชนเผ่าแต่เราทำงานกับกฎหมายด้วย ก่อนหน้านี้มีการผลักดัน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ (ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง) เราเป็นทีมสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำเป็นนิทรรศการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อให้คนเห็นว่าข้อมูลเรื่องนี้ย่อยง่าย และใครจะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้บ้าง โดยรวมคือเราเข้าใจระบบของคนชนเผ่า และมิติด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเมืองของพวกเขาได้กว้างขึ้น

| ย้อนกลับไปจุดแรกเริ่ม ทำไมคุณถึงอยากบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านเสียงด้วย

เม : ทำไมถึงเลือกทำอะไรที่เฉพาะทาง (niche) ขนาดนี้ใช่ไหม (หัวเราะ) ด้วยความที่เราเรียนด้านนี้มา เคยถือเครื่องอัดเสียงออกไปเจออะไรมากมาย ทำให้เราเจอหลายอย่างในเสียงที่อาจไม่เคยสนใจ เป็นเสียงที่ถ้าอยู่ในสถานการณ์แล้วใช้ตามอง เราอาจไม่ค่อยได้ยิน แต่ถ้าเราเก็บเสียงจากอุปกรณ์ในมือถือ เราจะเริ่มได้ยินว่ามีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ตาเราไม่ได้สังเกต 

สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบเกี่ยวกับเสียง คือ ทุกพื้นที่จะมีเสียงและบรรยากาศที่แตกต่าง อย่างเสียงนกที่แม่ฮ่องสอนกับกรุงเทพฯ ก็จะไม่เหมือนกัน มากกว่านั้นคือเสียงคือเครื่องบันทึกความทรงจำ บางคนเขาไม่เขียน เขาจะเล่าผ่านการพูดหรือบทเพลง อย่างเพลงงานศพของไทดำ จริงๆ แล้วคือแผนที่ที่พาคนตายกลับบ้านถูก มิติของเสียงมันน่าสนใจแต่เป็นเรื่องที่คนมองข้าม มันมีเมสเสจอยู่เยอะมาก 

รักษ์ : ช่วงแรกๆ รักไปคุยกับนักดนตรีภาคต่างๆ แล้วพอได้ไปเจอนักดนตรีปกาเกอะญอ เราก็เจอว่าเพลงของเขาบันทึกแนวคิดและวิถีของเขา ดนตรีมีความพิเศษบางอย่างที่ทำให้เราคล้อยตามได้ และยังเล่าเรื่องในพื้นที่นั้นได้ด้วย เช่น เพลงคนอยู่กับป่า เนื้อเพลงคือ “เราอยู่กับป่า เรารักษาป่า เราอยู่กับน้ำ เราดูแลแม่น้ำ เรากินเขียด เราดูแลผา เรากินปลา เราดูแลลำห้วย”  สิ่งเหล่านี้อยู่ในดนตรีของเขาและถ่ายทอดมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว

| คิดว่าเพราะอะไรเราจึงต้องเข้าใจวัฒนธรรมอื่น

เม : เราถามคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกัน สำหรับเรา การเข้าใจวัฒนธรรมอื่นทำให้เรามีทักษะชีวิตเยอะขึ้น เช่น มีครั้งหนึ่งเราไปที่หมู่บ้านหนึ่งแล้วรถเสียกลางทาง เราต้องเดินบนถนนดินแดงไปถึงหมู่บ้านเขา ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง วันต่อมาเราเจอว่าน้องๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านเขาเดินแบบนี้แต่เดินเร็วมาก นั่นทำให้เราเข้าใจว่าเราไม่มีทักษะเดียวกับเขา หรือประเด็นที่เราคุยกันบ่อยๆ อย่างน้ำท่วม ตอนนี้เรารู้แล้วว่าถ้าน้ำท่วมเมืองเราจะไปที่ไหน 

กับอีกส่วนหนึ่งคือ มันทำให้เราเข้าใจตัวตนเรามากขึ้น เพราะเมื่อเราไปสะท้อนตัวตนของเรากับคนอื่น การได้พบคนเยอะๆ ทำให้เรารู้ว่าฉันเป็นแบบนี้ เธอเป็นแบบนั้น และเธอไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนฉัน นี่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นทั้งๆ ที่เป็นการสะท้อนจากคนอื่น

รักษ์ : พอรู้จักคนอื่นแล้วจะช่วยลดการตัดสิน ถ้าเราไม่ไปตัดสินคนอื่น สังคมของเราน่าจะน่าอยู่ขึ้น เพราะตัวเราเองก็ไม่ได้อยากให้คนอื่นมาตัดสินวัฒนธรรมของเราเหมือนกัน 

| เสียงแต่ละแบบให้ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร

เม : ถ้าเป็นเสียงธรรมชาติ เราจะรู้สึกตื่นเต้น การที่ต้องจดจ่ออยู่กับมันนานๆ สักพักจะผ่อนคลายลง แต่ถ้าเป็นเสียงดนตรี เราจะรู้สึกสนุกหู เพราะบางทีเราใส่หูฟัง มันไม่ได้ยินแค่ดนตรี แต่ได้ยินเสียงลมหายใจของเขา ได้ยินความแรงที่เขาเป่าเครื่องดนตรี ได้ยินพลังของคนที่ใช้เครื่องดนตรี ซึ่งมันเป็นมนุษย์มากๆ 

ทุกวันนี้เวลาเราฟังเพลงจากสตรีมมิง เราจะได้ยินเสียงที่มันเพราะพริ้ง สวยงาม แต่พอเอาไมค์ไปจ่อเครื่องดนตรีที่มีมนุษย์เล่นจริงๆ มันมีความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เห็นว่านี่แหละคน นี่แหละชีวิต

| งานนี้ส่งผลต่อการฟังเสียงของพวกคุณบ้างหรือเปล่า เวลาได้ยินเสียง คุณมักจะตั้งใจฟังอะไร

เม : เวลาเราไปอยู่ในชุมชนต่างๆ กับไมโครโฟนหนึ่งตัว ไมโครโฟนจะเป็นสิ่งที่ไวต่อสัมผัส (sensitive) มากเลย เมื่อเราจะขยับตัวหรือหายใจแรงๆ เสียงจะเข้าไมโครโฟนหมด จึงกึ่งบังคับให้เราต้องนิ่งที่สุดและได้ยิน 

‘ไมโครโฟน’ เหมือน ‘หู’ ของเราที่ขยายใหญ่ขึ้น สมมติเรายืนอยู่บนภูเขา ถ้าไม่ได้ใส่หูฟังและมีไมโครโฟน เราอาจได้ยินแค่เสียงนก แต่พอใส่หูฟังปุ๊บ เราได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ที่มาจากเขาอีกลูก เพราะเราอยู่ในสภาวะที่นิ่งที่สุดเท่าที่เราจะนิ่งได้ และรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ทั้งที่เห็นและไม่เห็น

มันเป็นความปัจจุบันของช่วงเวลานั้นมากๆ

และพอเราได้ฝึกฝนสิ่งนี้เยอะ บางทีเราอยู่ในสภาวะที่วุ่นวายมากๆ เราก็จะดึงสภาวะนิ่งเหมือนตอนที่เราใส่หูฟังกลับมา มันทำให้เราสงบลงได้เหมือนกัน ถ้าทำสมาธิเป็นทักษะหนึ่ง อันนี้ก็เป็นทักษะที่อยู่กับเราข้างในเหมือนกัน 

| ในมุมคนทำงานกับเสียง
คุณมีวิธีกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างไรบ้าง

เม : สิ่งที่เรายังใช้อยู่ทุกวันนี้คือการทำสมาธิด้วยการเดิน ระหว่างเดินเราไม่ใช่แค่ดูลมหายใจกับการขยับของเราอย่างเดียว แต่เราพยายามทำให้หูของเราไม่ปิด เหมือนดึงสภาวะความนิ่งตอนเราใส่หูฟังกลับมา  อยู่กับปัจจุบันขณะโดยไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น ที่เราทำบ่อยๆ คือทำที่สวนรถไฟ หลังจากวิ่งเสร็จเราก็เดินสมาธิของเรา ซึ่งจริงๆ มันก็คือการทำ Grounding นั่นแหละ

รักษ์ : ส่วนเราจะเอาตัวเองไปอยู่ที่ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ สังเกตสิ่งรอบตัวว่าได้ยินอะไร สิ่งไหนขยับ นั่นคือวิธีหนึ่งที่ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง 

เม : หรืออีกวิธีหนึ่งที่เราแชร์ได้ สำหรับคนที่ไม่อยากทำสมาธิ แค่มีกระดาษแผ่นหนึ่งแล้วนั่งหลับตา ได้ยินอะไรแล้วสเกตช์โดยไม่ต้องคิดถึงความสวยงาม มันเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่เราได้อยู่ในโมเมนต์นั้นโดยที่เราไม่ต้องตัดสินหรือคิดอะไรต่อ 

| จากชุมชนเกือบ 20 แห่งที่เคยไปเยือน เสียงจากชุมชนไหนที่ประทับใจมากที่สุด

เม : บ้านสะเนพ่อง (อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) เรารู้จักกับเขา 3-4 ปี ไปหาเขาครบทุกฤดู เขามีวัฒนธรรมที่รุ่มรวยและมีเสียงธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร เช่นเสียงนก ก่อนหน้านี้เราจะไม่สนใจเพราะเราฟังไม่ออก แต่ชาวบ้านฟังแล้วรู้หมดเลยว่านกอะไร ทำให้เราได้สังเกตเสียงไปด้วย ล่าสุดที่เพิ่งไปมาก็ได้บันทึกเสียงนกเงือกเป็น 20 ตัว เรารู้สึกว่าพี่เขาดูแลบ้านของตัวเองดีมากเลยยังมีสัตว์พวกนี้อยู่ในบ้าน 

รักษ์: ถ้าประทับใจและทำให้เรารู้สึกโตขึ้นด้วย เราคิดว่าชุมชนมานิ จังหวัดสตูล  เขามีเครื่องดนตรีหนึ่งเรียกว่า ‘ยาห่อง’ เป็นไม้ใบฝานบางๆ เป็นลิ้นแล้วเป่า แล้วเสียงจะเปลี่ยนไปตามรูปปาก ซึ่งเสียงร้องของเขาเลียนแบบจากเสียงสัตว์ป่าที่เขาคุ้นเคย และจะมีเรื่องเล่าที่อยู่ในเพลง เช่น เสือกินกวาง 

ก่อนจะเป็นดนตรีที่เป็นเครื่องเล่น มนุษย์เริ่มจากการเลียนแบบเสียงแบบนี้ก่อน การไปเจอการเล่นนั้นมันจึงเหมือนเราเจอพื้นฐานขั้นสุดของการใช้เสียงของมนุษย์ มันทำให้เราเห็นความธรรมดาของมนุษย์ และเห็นความสุขมันแค่นี้เลย 

| มีเสียงหรือเรื่องราวไหนที่เปลี่ยนมุมมองชีวิตของคุณบ้างไหม

เม : แน่นอนว่าเวลาไปอยู่กับกลุ่มพี่ๆ ชนเผ่า เราจะได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติ การดูสัตว์ป่า การดูพืชว่าอันไหนทานได้หรือไม่ได้ แต่กับชุมชนเมือง เช่น ชุมชนคลองเตย เราได้เรียนรู้ว่าความซับซ้อนของชีวิตเขาเกิดจากระบบ แต่ชีวิตจริงๆ ของเขาไม่ได้ซับซ้อน เราอาจมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่น แต่พอเราไปคุยกับเขาจริงๆ เราจะเห็นว่าระบบมันไม่ได้เอื้อให้เขามีชีวิตหรือศักยภาพที่มากกว่านี้ เช่น ระบบการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ แต่เขาก็พยายามใช้ชีวิตเท่าที่เขาจะทำได้ 

เวลาเราไปเจอ เราจะรู้สึกว่าพี่พวกนี้โคตรเก่ง บ้านหลังหนึ่งอยู่กับ 3-4 ครอบครัว ช่วงเวลาเดียวที่เขาจะหารายได้คือตอนรถไฟขับผ่าน พอแก่ตัวลงก็จะมีปัญหาสุขภาพเพราะทำงานแบกหามมาทั้งชีวิต เรารู้สึกเคารพในความที่เขาใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในกรอบที่เขาทำได้ และเขาไม่ได้อยากให้คนอื่นมาสงสาร แต่อยากให้เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นมากกว่า ถ้าจะโทษอะไร เราว่าโทษที่ระบบ 

รักษ์ : ส่วนของเรา มีพี่คนหนึ่งที่บ้านสะเน่พ่องเล่าให้ฟังว่าเขาไม่เคยมีบัตรประชาชนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เขาใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีในการยื่นเอกสาร โดนเจ้าหน้าที่ดูถูกมากมายกว่าจะได้บัตร พอเขามีลูก เขาก็ต้องใช้ความพยายามที่จะทำให้ลูกได้สัญชาติไทยอีก เขาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟังแล้วร้องไห้ ซึ่งเรารู้สึกว่าเรื่องเล่าของเขาทำให้เหตุผลในการทำ Hear & Found ของเราชัดขึ้นอีกว่ามันมีคนกลุ่มนี้ที่ต้องการความเข้าใจอยู่ พวกเขาสมควรแล้วใช่ไหม ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเติบโต อยากเรียนรู้ อยากออกไปหาโลกกว้าง 

| ถ้าคุณไม่ได้ทำ Hear & Found คิดว่าตัวตนของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไร

เม : คงเป็นคนที่อยู่ในระบบทุนนิยมร้อยเปอร์เซ็น (หัวเราะ) เพราะเราโตมาในกรุงเทพฯ แล้วมันก็มีระบบที่ทำให้เราต้องมีชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่ระบบอยากให้เป็น เราคงโฟกัสกับรายได้และสิ่งของที่มี แต่อาจจะไม่ได้โฟกัสที่ว่าเราอยากเป็นใคร

| แล้วตอนนี้ คุณนิยามว่าตัวเองเป็นใคร

เม : นิยามตัวเราเปลี่ยนไปตลอดเลย แต่ 5-6 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะให้นิยามอาชีพ เราตอบได้ว่า หนึ่ง-เราเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม สอง-เราเป็น Field Recodist คนที่ทำอาชีพถือไมโครโฟนไปอัดเสียงในที่ต่างๆ เราภูมิใจที่จะใช้คำนี้กับตัวเองได้แล้วในวันนี้ ซึ่ง 5 ปีที่แล้วอาจจะพูดอย่างนี้ไม่ได้ 

| การทำ Hear & Found ได้บอกต่อและถ่ายทอดเสียงและเรื่องราวของคนในชุมชนต่างๆ ให้สังคมได้รู้ สิ่งเหล่านี้มีความหมายกับคุณอย่างไร

เม : ขอเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ช่วงโควิดเราเป็น Mental Breakdown คุยกับรักว่าทำสิ่งนี้ไปทำไม ทำแล้วไม่สำเร็จสักที เครียดมาก ทำไมต้องเอาตัวเองมาแลกกับเรื่องนี้ อย่างหนึ่งที่รักเขาพูดกับเราคือ หรือว่าเธออาจไม่จำเป็นต้องมองไปข้างหน้าอย่างเดียว เธออาจต้องมองข้างหลังก็ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นจากการทำงานนี้บ้าง

พอเรามองกลับไปแล้วก็ได้คุยกับตัวเองว่า กระบวนการที่เราเข้าไปทำงานหรือให้โอกาสเราเข้าไปรู้จักมันทำให้เกิดผลผลิตอย่างไร 

หนึ่งคือมีคนที่รู้จัก Hear & Found และรู้ว่าเราสื่อสารเรื่องอะไรให้กับใคร

สองคือพี่ๆ นักดนตรีเขาก็ดีใจที่เขามีพื้นที่เล่นดนตรีที่ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ของคนชนเผ่า เพราะเราชวนเขาออกมาเล่นที่โฮสเทลในกรุงเทพฯ คนดูก็ขยายกว้างขึ้น และเราเห็นว่าพี่เขามีความหวังกับดนตรีของเขามากขึ้น 

เราอาจจะเปลี่ยนแปลงระบบไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่นักกฎหมาย เราเป็นแค่นักสื่อสาร แต่การเก็บเล็กผสมน้อยเหล่านี้ แม้ว่ามันจะไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเงินที่คนเขาอยากเห็น แต่เรารู้ว่ามันมีผลผลิตบางอย่างเกิดขึ้น

ทั้งในเชิงความสัมพันธ์ก็ดี การที่พี่ๆ เขามั่นใจจะเล่าเรื่องตัวเองก็ดี หรือการที่เขาไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องอาย เราได้เห็นว่าเขามีกำลังใจจะทำสิ่งที่เขาชอบต่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรายังมีกำลังใจ

รักษ์ : สำหรับเราเป็นเรื่องกัลยาณมิตร ตอนเราทำ Hear & Found เราเจอกัลยาณมิตรเรื่อยๆ แล้วทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำสนับสนุนเพื่อนเรา ซึ่งคือพี่ๆ ชนเผ่าหรือแม้กระทั่งพี่ๆ ในชุมชนเอง ทำให้เขามีแรงและกำลังใจทำต่อ กัลยาณมิตรอีกฝั่งคือคนที่เคยร่วมงานกับเรา เขาน่าจะได้แรงบันดาลใจจากการได้มาเจอพี่ๆ เหล่านี้ เหมือนเราได้สร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรเพื่อให้คนในสังคมได้เชื่อมกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน และเริ่มมองกันในมุมใหม่ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าตัวฉันก็มีความหมาย และมีคุณค่าที่จะใช้ชีวิตต่อ

ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา เพราะเรามีความสุขได้ด้วยการ ‘Let Them’ ยอมรับและปล่อยให้พวกเขาได้เป็น และได้ทำอย่างที่ต้องการ

บ่อยครั้งแค่ไหน ที่ใจของเราจับจ้องอยู่กับการกระทำของคนอื่นไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง หรือ แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับเราเลย ตั้่งแต่คนที่เดินสวนกันในที่สาธารณะ

วิธีชวนเด็กๆ กลับมารู้เนื้อรู้ตัวผ่านธรรมชาติ ฉบับครูเพลง-ต้องตา จิตดี แห่งโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์

ในฐานะที่เป็นทั้งคุณครู นักเขียน ศิลปิน และนักสำรวจตัวยงที่ผูกพันกับธรรมชาติมาอย่างยาวนาน ครูเพลงผสมผสานหลายสิ่งที่เธอรักทั้งดนตรี หนังสือ ศิลปะ และธรรมชาติ ให้กลายเป็นวิชา Story Club and Playlab

จะเบญจเพส หรือ Young Adult แต่เราทุกคนล้วนจำเป็นต้องเติบโต

“โบราณเขาว่าไว้ อายุ 25 จะตกเบญจเพสและฟาดเคราะห์ อาจมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ให้มีสติและระวังตัว” เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านที่เคยผ่านอายุ 25 ปีมา ย่อมต้องเคยได้ยินอะไรทำนองนี้ผ่านหู ผู้เขียนเองก็ไม่ต่างกัน