“ฟังหูไว้หู อย่าเชื่อจนหมดใจ” ประโยคนี้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ ‘วิชาคนตัวเล็ก’
โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ไม่โน้มน้าวให้เราเชื่อทุกคำแนะนำที่ปรากฏในหนังสือ แต่ก็โน้มน้าวให้เราอ่านทุกบรรทัดตั้งแต่หน้าแรกจนจบหน้าสุดท้ายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจว่า บุคคลที่จะพาคนตัวเล็กๆ หรือคนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ให้เติบโตไปโดยไม่หลงทาง หรือยอมแพ้กับชีวิตไปเสียก่อน ก็คือ ‘ตัวเราเอง’
ซึ่งตัวเราเนี่ยแหละ ที่เราควรเชื่อใจ และเชื่อมั่นมากที่สุด มากกว่าคำแนะนำของใครๆ ที่เราเก็บไว้ประกอบการตัดสินใจได้ แต่อย่าให้คำของคนอื่น กลายเป็นทั้งหมดของชีวิต
นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้อ่านงานเขียนของ พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์วีเลิร์น เขาเป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง และแม้สารของหนังสือเล่มนี้จะอยู่เคียงข้างเหล่าคนตัวเล็ก (หรือคิดว่าตัวเองตัวเล็ก) แต่เราเชื่อว่า ใครที่อ่านจบ คุณจะเห็นว่าความธรรมดาที่แสนพิเศษมันมีอยู่จริงนะ และมันอาจเริ่มต้นที่ ‘ความคิด’ ของเรา
แม้หลายครั้ง ผู้หลักผู้ใหญ่จะปลูกฝังเรากันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า จงเก็บคำแนะนำของคนอื่นมาปรับปรุงชีวิตตัวเอง หรือเชื่อคนที่ผ่านน้ำร้อนมาก่อนจะพ้นภัย แต่ วิชาคนตัวเล็ก กลับพยายามชี้ให้เห็นมุมมองอีกด้าน ที่คำแนะนำของคนนอก อาจทำให้เราไขว้เขวในจุดยืน ไถลออกนอกตัวตนที่เป็น จนถึงจุดที่เราถามตัวเองว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่” เพราะชีวิตที่หมุนรอบความคิดคนอื่น…ไม่เหนื่อยน้อย ก็เหนื่อยมาก
แต่เราไม่ได้บอกให้ทุกคนปิดหู ปิดตา ไม่รับฟังความคิดเห็นของใครนะ เพราะนั่นอาจเป็นวิธีสุดโต่งที่ทำให้มุมมองในการใช้ชีวิตของเราคับแคบได้ หากเราทำตัวยิ่งใหญ่เหนือฟ้าโดยไม่รับฟังใคร ทว่าการฝึกทำตัวให้เล็กลงอาจเป็นวิธีที่ดีต่อใจวิธีหนึ่ง เมื่อเราพร้อมยอมรับและเข้าใจว่าในสังคมนี้มีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ และเปิดใจเรียนรู้ที่เปิดตาดู เงี่ยหูฟังมัน โดยอยู่บนพื้นฐานการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ให้เป็น เก็บเอาเฉพาะข้อคิดดีๆ มาใช้ ส่วนข้อคิดไม่ดี ปล่อยผ่านได้ ก็ให้ปล่อย คือสิ่งสำคัญที่ วิชาคนตัวเล็ก อยากให้ทุกคนลอง ‘ลดความสำคัญ’ กับ ‘คนนอก’ แล้วหันมา ‘ให้ความสำคัญ’ กับ ‘คนใน’ ที่หมายถึง ‘ตัวเราเอง’ มากกว่า คล้ายกับว่าพร้อมที่จะเรียนรู้กับคนรอบข้างเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่ไม่เชื่อเขาจนเราไร้ซึ่งความสุข
ประโยคหนึ่งที่เราชอบมากๆ ในหนังสือจนต้องจดเก็บไว้คือ “จะล้มเหลวในสายตาของคนอื่นอย่างไรก็ช่าง ขอแค่อย่าล้มเหลวในสายตาตัวเองก็พอ” มันเป็นวิธีปล่อยวางกับความคิดของคนอื่นที่เราคิดว่าถ้าทุกคนใช้ชีวิตโดยโฟกัสที่ตัวเองมากกว่าคนอื่น จะทำให้เราไม่ต้องแบกรับอะไรหนักๆ ไว้ตลอดเวลา และคงเครียดกันน้อยลง
เราควรจะได้ทำอะไรที่เหมาะกับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นคนอื่น เราอาจไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายระยะยาวที่ยิ่งใหญ่เหมือนคนอื่นเขา ที่ว่าอายุเท่านั้น เท่านี้ ควรจะมีแบบนั้น แบบนี้ เพราะการมีเป้าหมายระยะสั้นๆ ที่ไม่รัดแน่นหรือกดดันมากเกินไป นั่นก็ถือเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคุณค่าหรือน่าชื่นชมน้อยกว่าใคร แค่คิดว่า ใน 2 เดือนข้างหน้า จะเล่นเกมให้น้อยลง อ่านหนังสือให้มากขึ้น กินผักเยอะกว่าเดิม ไม่เล่นโทรศัพท์ตอนปิดไฟ ฯลฯ ความธรรมดาแบบนี้ที่ส่งผลดีต่อตัวเอง จริงๆ มันคือความทั่วไปที่พิเศษสุดๆ ไปเลยล่ะ
หลายครั้ง ความน่ากลัวของคนเราที่ทำให้พ่ายแพ้ต่ออุปสรรคที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิต ก็คือการคิดไปล่วงหน้าว่า “ฉันทำไม่ได้” คำถามคือ
“รู้ได้อย่างไรว่าทำไม่ได้ หากยังไม่ลองทำ จริงไหม?”
ในบทที่ 32 ของหนังสือ วิชาคนตัวเล็ก จึงว่าด้วยเรื่องของ กำแพงที่สูงที่สุด ที่บางครั้งก็คือความคิดของเราเอง ที่คิดไปเองว่าทำไม่ได้ แต่จริงๆ ได้ ไม่ได้ ไม่รู้ แต่ควรลองทำดูก่อน เพราะถ้าไม่ลอง คำตอบมีแต่ไม่ได้ ทว่าหากกล้าลอง คำตอบจะมีช้อยส์เพิ่มขึ้นมาจากไม่ได้คือ “ทำได้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีติดไว้กับตัวย่อมดีกับตัวเองคือ ภูมิต้านทานการถูกปฏิเสธ เพราะเมื่อเราล้ม เราอาจจะไม่เจ็บหนักเท่าคนที่ไม่มีภูมิต้านทานเลย หากเราสู้จนสุดแรงแล้ว ขออย่าได้กล่าวโทษตัวเอง นั่นแปลว่าเราพยายามมันถึงที่สุดแล้ว และความผิดพลาดครั้งนี้ ไม่ได้แปลว่ามันจะตัดสินทั้งชีวิตของเราได้ หรือบอกกับเราว่าเราไม่เก่งอะไรเลย คนเราสามารถเก่งขึ้น และแกร่งขึ้น จากข้อผิดพลาดกันทั้งนั้นแหละ
ถ้าเหนื่อย หรือรู้สึกมืดแปดด้าน ลองหยุดพัก ออกจากวงจรชีวิตที่ซ้ำไปมา ผ่อนคลายตัวเอง ให้เวลากับตัวเอง และหาเรื่องเล็กๆ ที่ทำให้ยิ้มได้ เราเชื่อว่า เมื่อเราได้ชาร์จพลังชีวิตแล้ว สิ่งใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ เป้าหมายใหม่ๆ ของเราจะเกิดขึ้นได้เอง ขอแค่เรายังเชื่อในตัวเอง และไม่หมดหวังกับตัวเองก็พอ
‘วิชาคนตัวเล็ก’ จึงเป็นอีกหนึ่งหนังสือที่ช่วยเปิดมุมมองความคิดของเรา
และเชื่อว่าคงฮีลใจหลายๆ คนที่ได้อ่านเช่นกัน