The Present Move

คุยกับทีม 10DK เมื่อความสุขในชีวิตออกแบบได้ด้วยการจัดบ้าน

The Present Move | Mindful Global Citizens

ลองจินตนาการถึงวันแรกที่เราย้ายเข้าสู่บ้านหลังใหม่ ทุกอย่างเรียบร้อยและสวยงาม เฟอร์นิเจอร์จัดวางอย่างพิถีพิถันสร้างความสุขสงบ สมกับคำว่า Home Sweet Homeแต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้าวของต่างๆ เพิ่มขึ้น ความระเกะระกะกลายเป็นความปกติธรรมดาของบ้าน ที่วันนี้ไม่เหลือเค้าความเป็นระเบียบเรียบร้อยดั่งในวันแรกอีกแล้ว

เคยสงสัยไหมว่า บ้านที่เคยน่าอยู่เป็นที่พักใจ กลับกลายเป็นแหล่งสะสมข้าวของมากมายตั้งแต่เมื่อไรกัน? 

เทศกาลปีใหม่นี้อาจเป็นโอกาสอันดี ในการเริ่มต้นฟื้นฟูบ้านที่เต็มไปด้วยข้าวของ สะสางสิ่งที่หมักหมม ไม่เพียงแค่เรื่องราวในชีวิต แต่ยังรวมถึงพื้นที่ที่เราอยู่อาศัย การจัดบ้านจึงไม่ใช่แค่การทำความสะอาดหรือตกแต่งให้ดูดี แต่คือการคืนสมดุล สร้างพื้นที่ที่เติมพลังและความสุขให้กับบ้านเหมือนวันแรกที่เราเคยตกหลุมรัก

The Present Move พูดคุยกับ คุณนุ้ย-ดร.ปรีชญา ชวลิตธำรง General Manager 10DK และ คุณชื่น-ชื่นกมล อบอาย Head of 10DK Home Tidying Department ตัวแทนจากทีม 10DK Home Tidying ผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อว่า การจัดบ้านคือกุญแจสำคัญในการสร้างความสุขที่ยั่งยืน ให้ปีใหม่นี้เต็มไปด้วยพลังบวกที่จะเปลี่ยนบ้านรก ให้กลับมาเป็นบ้านที่เรารักได้อีกครั้ง 

 

| จุดเริ่มต้นของ 10DK Home Tidying ของพวกคุณคืออะไร

นุ้ย : ก่อนอื่นต้องเล่าว่า 10DK เราทำ Interior Design มาประมาณ 9-10 ปีแล้ว ซึ่งงานออกแบบภายใน ทำให้เราเห็นว่า วันแรกที่เราส่งมอบบ้านให้ลูกค้าเข้าไปอยู่สวยมาก ทุกอย่างเป๊ะมากๆ  แต่พออยู่ไปก็มีความเปลี่ยนแปลง บ้านอาจจะรก ไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร ไม่เหมือนวันแรกที่ทุกคนในบ้านมีความสุขกับบ้านมากๆ เลย แต่วันนี้เริ่ม เอ๊ะ! ไม่ได้เอนจอยกับตัวบ้านแบบนั้นแล้ว ไม่ได้มีความสุขเท่าเดิม 

เราก็เลยคิดว่ามีวิธีการหรือบริการอะไรไหม ที่คืนความรู้สึกดีๆ ให้เกิดขึ้นเวลากลับมาบ้าน ก็เลยมาคุยกับคุณชื่นว่ามันมีวิธีอะไรบ้าง ทีนี้คุณชื่นเป็นคนที่มีงานอดิเรกเป็นการจัดบ้าน ถ้าบ้านไหนรก ให้คุณชื่นไปจะจัดเรียบร้อย จริงๆ แล้วมันไม่ต้องทำอะไรมาก 

ไม่ต้องรีโนเวท แค่จัดบ้าน ก็น่าจะฟื้นคืนชีพความสุข
ของการอยู่บ้านกลับมาได้


ชื่น : เหมือนกับที่คุณนุ้ยบอก เราอยากจะคงความรู้สึกมีความสุขเหมือนกับวันที่ย้ายเข้าบ้านวันแรกไว้ ซึ่งในความเป็นจริงของชีวิต เมื่ออยู่ๆ ไป ก็จะเริ่มมีข้าวของต่างๆ เข้ามา ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงที่จะจัดการข้าวของเหล่านั้นให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม ให้มัน Last Long ไม่ใช่แค่วางให้ดูเรียบร้อย แต่ทำให้เป็นระบบ

ซึ่งพอชื่นได้ไปเรียนทฤษฎีการจัดบ้านมา ก็เอามาช่วยเสริมในงาน Interior Design วางแผนกับลูกค้าควบคู่ไปกับการออกแบบตกแต่งได้เลยว่า เราจะมีระบบการจัดวางข้าวของแต่ละมุมยังไง เรามีพื้นที่แค่ไหน หรือสำหรับลูกค้าที่เข้าไปอยู่ในบ้านแล้วเริ่มมีข้าวของเยอะแยะ เราก็เข้าไปช่วยวางระบบการจัดเก็บสิ่งของต่างๆ ในบ้านได้ 

| ทฤษฎีที่ใช้สำหรับการจัดบ้านสำคัญยังไง มีอะไรบ้าง

นุ้ย : หลักๆ ใช้ทฤษฎีการจัดบ้าน บวกกับทฤษฎีของสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งทฤษฎีสถาปัตยกรรมมีเยอะไปหมดเลยค่ะ

หลักๆ คือ ทำอย่างไรให้ผู้ใช้งานใช้ได้อย่างถูกต้อง สะดวกสบาย มันต้องดูที่ Human Scale ดูที่ Function ดู Circulation ทุกอย่างประกอบกัน อันนี้ก็เป็นหลักการของงานออกแบบภายในและสถาปัตยกรรม

ชื่น : สำหรับทฤษฎีจัดบ้านที่ชื่นไปเรียน ก็มีของคุณ มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) คอร์ส Konmari Consultant ที่สอนเรื่องการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าในการวางระบบการจัดเก็บข้าวของ วางแผนอย่างไร ใช้คอนเทนเนอร์แบบไหน มีรายละเอียดกระทั่งการจัดเรียงของ หันหน้าไปทางเดียวกันนะ หรือแม้กระทั่งวิธีการจัดวางของที่เราใช้บ่อยควรอยู่ระดับสายตาลงมาถึงเอว การจัดเก็บเสื้อผ้า เราจะแขวนเรียงเสื้อผ้ายังไง เราจะพับยังไง ลงรายละเอียดไปทุกหมวดของเสื้อผ้าเลย ถุงเท้าต้องเก็บแบบนี้ ชุดชั้นในพับแบบนี้ 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น แต่ยืดอายุการใช้งานอีกด้วย อย่างการพับถุงเท้า ปกติคนส่วนใหญ่ก็จะม้วนๆ กันใช่ไหมคะ แล้วถุงเท้าก็ยืด ซึ่งเขาบอกว่า ทำให้ผ้ามันเครียด ถุงเท้าก็จะยืดเร็ว ใส่ได้ไม่เท่าไรก็ยืดแล้ว นี่คือความละเอียดที่ได้จากคอร์สของคุณมาริเอะ คนโดะ 

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งคือ Clutterbug จากแคนาดา ของคุณคาสแซนดร้า อาร์เซน (Cassandra Aarssen) ที่ใช้วิธีการแบ่งประเภทพฤติกรรมการจัดเก็บของของผู้อยู่อาศัยในบ้าน เพราะปัญหาที่พบบ่อยในหลายครัวเรือน คือ สมาชิกแต่ละคนมีพฤติกรรมการเก็บของต่างกัน บางคนไม่ชอบเห็นของ อยากเก็บทุกอย่างเข้าลิ้นชักให้เรียบร้อย บางคนต้องเห็น เราก็นำทฤษฎีเหล่านี้มาประยุกต์ นอกจากการมองเห็น ไม่มองเห็น ยังแบ่งหมวดหมู่การจัดเก็บ บางคนก็ต้องแบ่งเป็นหมวดย่อยๆ ต้องการรู้ละเอียดเลยว่า ฉันจะไปหยิบของชิ้นนี้ หมวดนี้ตรงไหน บางคนอาจจะบอกว่า ขอเป็นหมวดใหญ่ๆ ฉันถึงจะแบบสบายใจ อันนี้ก็คือสองทฤษฎีการจัดระเบียบบ้านที่เรานำมาใช้เป็นหลัก


นุ้ย :  สรุป ทฤษฎีที่เราใช้ก็คือ 1. ทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรม Interior 2. ทฤษฎีการจัดระเบียบ รวมไปถึงการจัดระเบียบบ้าน โดยทุกอย่างต้องถูก personalize ให้เข้ากับคนที่อยู่อาศัยในบ้าน ก่อนทำงาน เราจะคุยกับสมาชิกในครอบครัว แล้วก็จะมีแบบทดสอบให้ทำด้วยค่ะ 

| ทำไมต้องให้ทำแบบทดสอบก่อนจัดระเบียบบ้าน

ชื่น : ต้องทำ เพราะก่อนจะจัดบ้านให้ลูกค้า เราต้องเข้าใจว่า เขามีพฤติกรรมการเก็บของหรือไลฟ์สไตล์แบบไหน ต้องสอบถามความต้องการของลูกค้า เราต้องรู้ละเอียดเลยว่า ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ชีวิตประจำวันของสมาชิกในบ้านแต่ละคนคืออะไร เพราะเราต้องวางระบบที่ตอบโจทย์สมาชิกทุกคนในบ้าน 

นุ้ย : เวลาที่เราทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมหรือออกแบบภายใน เราต้องรู้พฤติกรรม รู้กิจวัตรประจำวันของลูกค้าทั้งหมด ก็เหมือนกับการจัดบ้านที่ต้องรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ 

ชื่น : เราคุยกับลูกค้าก่อนเริ่มงาน ก็จะถามว่ามี Pain Point อะไร ใช้ชีวิตในบ้านรู้สึกติดขัดตรงไหน พื้นที่ต่างๆ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ต้องการปรับอะไร เมื่อเข้าไปสำรวจหน้างาน เราก็จะเห็นข้าวของของลูกค้า บางบ้านมีทัมเบลอร์เยอะมาก ก็ต้องคุยกันว่าจะเก็บไว้ไหม อันไหนใช้บ่อย จะออกแบบจัดเก็บยังไง ฟังปัญหาของลูกค้า แล้วเราก็มีหน้าที่แก้โจทย์ โดยเอาทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์ 

นุ้ย : ซึ่งทฤษฎีทั้งสองอันมันมีเป้าหมายตรงกัน คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย 

| มีคำแนะนำอย่างไร สำหรับบางคนที่จัดบ้านเป็นระเบียบได้ไม่นาน
ก็กลับมารกอีก

นุ้ย : อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกบ้านต้องเจอ แต่ถ้าสังเกต จริงๆ เราจะจัดแค่ให้ ‘ดู’ เป็นระเบียบ เช่น ดึงลิ้นชักออกมา เช็ดๆ จัดๆ วางของเรียงๆ ไปเหมือนเดิม ให้ดูเป็นระเบียบขึ้น แต่ถ้าจะให้บ้านเป็นระเบียบตลอดไปจริงๆ ต้องทำให้เป็นระบบด้วย สิ่งที่เราทำคือวางระบบให้บ้าน  เพราะถ้ามันแค่เป็นระเบียบ สุดท้ายแล้ว เราหาของไม่เจอ เราก็รื้อ แล้วข้างนอกก็กระจุย ซึ่งเราไปศึกษามาว่าสิ่งที่ทำให้บ้านรก ไม่ใช่ว่าไม่เป็นระเบียบ แต่เพราะว่าไม่มีระบบ เราเลยพัฒนาทฤษฎีต่างๆ มาสู่การสร้างระบบให้บ้าน

| อยากให้ขยายความถึง ‘การวางระบบ’ ให้บ้าน

ดร.ปรีชญา : เราพัฒนาระบบขึ้นมา 3 อย่างในการจัดเก็บบ้าน  คือ 1. ระบบการคัดแยกของ 2. ระบบการจัดเก็บ และ 3. ระบบการคงสภาพ 

ชื่น : ระบบการคัดแยกของเกิดจากเมื่อเราอยู่ ไป ปริมาณของใช้เราจะเพิ่มขึ้น มีของใหม่เข้ามา และมีของที่เราไม่ได้ใช้ มีของที่เป็นขยะแต่ไม่ได้ทิ้ง เราก็ต้องมาคัดแยก ซึ่งคัดแยกนี่ก็จะแบ่งอีกเป็น ของที่จะเก็บ ของที่จะทิ้ง โดยของที่จะทิ้ง ประเมินจากของที่เสื่อมสภาพ หมดอายุ พวกยา อาหารแห้ง ซอสต่างๆ แล้วก็ยังมีของที่ยังสภาพดี แต่เก็บไว้นานไม่ได้ใช้ พวกนี้ก็อาจจะนำไปส่งต่อ เมื่อคัดแยกแล้วก็จะมาสู่ระบบการจัดเก็บ ก็ต้องดูให้เหมาะสมกับสมาชิกในบ้าน พฤติกรรมของแต่ละคน


นุ้ย : พอมาถึงระบบจัดเก็บ จะมีรายละเอียดเยอะมาก ใช้ทุกทฤษฎี แล้วต้องวางแผนเยอะ จุกจิก เป็นเรื่องที่ Personalize มาก เช่น ถนัดซ้ายหรือถนัดขวา เวลาเก็บของก็ไม่เหมือนกัน

ชื่น : เช่น เวลาแขวนเสื้อ คนถนัดขวากับคนถนัดซ้ายคอเสื้อจะหันคนละด้าน ถ้าถนัดซ้าย คอเสื้อจะหันไปด้านขวา เรื่องของระบบการจัดเก็บ นอกจากดูพฤติกรรมการเก็บของตามทฤษฎี Clutterbug แล้ว ก็ยังต้องดูว่าพฤติกรรมคนในบ้านเป็นยังไง ถนัดซ้ายหรือขวา ส่วนสูงเป็นยังไง ถ้าตัวเล็กหน่อย เก็บตู้สูงมาก เขาก็จะหยิบของไม่ถึง หรือถ้าบ้านที่มีเด็กๆ การเก็บของต้องให้เด็กๆ เห็นเขาถึงจะหยิบมาใช้ มาเล่น เลือกชั้นที่เปิดโล่งไหม หรือถ้าเป็นกล่องก็ควรเป็นกล่องใส ประมาณนี้

นุ้ย : จะมีทฤษฎีเล็กๆ ที่คุณชื่นนำมาใช้สำหรับบ้านที่มีเด็ก เนื่องจากคุณชื่นเป็นคุณแม่ ก็จะประยุกต์ใช้แนวคิดมอนเตสเซอรี่ในการจัดบ้านสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กด้วย

ชื่น :  ก็คือสร้างพื้นที่ยังไงให้เหมาะกับการเรียนรู้ ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และสุดท้ายคือระบบ ‘การคงสภาพ’ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจัดเสร็จแล้วทุกอย่างจะเหมือนเดิม ตราบเท่าที่ยังมีคนใช้ชีวิตในบ้านนั้น ของที่จัดไว้ถูกหยิบจับออกมาใช้ มีของเพิ่ม เราก็จะสร้างกิจวัตร ขอว่าทุก 6 เดือน ลองคัดแยกของกันหน่อย หรือถ้า 6 เดือนไม่ไหว ก็ทุก 1 ปี ช่วงใกล้ปีใหม่ ของที่ไม่ได้ใช้นานแล้ว ทิ้งไหม หรือส่งต่อให้คนอื่นได้ ต้องสร้างมายเซ็ตว่า ถ้าของเยอะกว่าที่เก็บ บ้านรกแน่ๆ อาจคอยถามตัวเองว่า ถ้าซื้อชิ้นใหม่ มีที่เก็บไหม ถ้าไม่มี รอก่อน หรืออยากซื้อจริงๆ ถ้างั้น One-in, One-out ใหม่มา เก่าไป นี่คือระบบคงสภาพที่เราอยากให้ทุกบ้านทำ 

| ชีวิตของผู้อยู่อาศัยจะดีขึ้นได้ยังไง เมื่อบ้านมีระบบระเบียบ

ชื่น : การจัดบ้าน คือเรื่องของ Well Being มันไม่ใช่แค่ Living แต่คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกทาง หนึ่งคือเราประหยัดเวลา ถ้าเช้ามาเราต้องวิ่งหาของวันละ 10 นาที 5 วันก็ 50 นาทีนะ อาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่งลองคูณไป เอาเวลาพวกนั้นมาเปลี่ยนเป็นวันพักร้อน วันหยุด ดีกว่าไหม แล้วชื่นว่าความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ก็จะดีขึ้นด้วย แม่ๆ หลายบ้านที่ต้องคอยตอบคำถาม “แม่!!! อันนั้นอยู่ไหน อันนี้อยู่ไหน” ซึ่งพอบ้านมีระบบ ชื่นว่ามันก็ลดความตึงเครียดได้นะ แล้วบ้านรกๆ บางทีเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ หลายบ้านชอบเอาของกองตามบันได สะดุดตกได้ง่าย ฝุ่นละอองที่มันสะสม ภูมิแพ้ อันนี้ก็คือเรื่องของสุขภาพ ชื่นว่ามันคือทุกมิติเลย เมื่อบ้านเราเป็นระเบียบ คุณภาพชีวิตเรื่องของเวลา เรื่องของสุขภาพกายใจ ก็ดีขึ้น

นุ้ย : สำหรับเราคือ ความสบายใจและความสุข ก่อนทำธุรกิจนี้เคยเป็นคนที่บ้านรกมาก่อน แต่พอจัดบ้าน สร้างระบบให้บ้าน พอมันเปลี่ยนไป รู้สึกได้เลยว่าเราปลอดโปร่งขึ้น


ชื่น : บ้านที่เป็นระเบียบส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีแน่นอนอยู่แล้ว พอบ้านเป็นระเบียบก็สบายตา พอสบายตาเราก็สบายใจเนอะ สังเกตตัวเองเวลาหาของไม่เจอ เราก็จะหงุดหงิด ไม่สบายใจ

นุ้ย : หรือหาของเจอ แต่มันหมดอายุแล้ว ยังไม่ทันได้ใช้ ก็เสียดาย กลายเป็นความกังวล ที่ทำให้จิตใจไม่สดใสเนอะ 


ชื่น : โดยรวมก็คือความรู้สึกสงบสุข (Peaceful) ที่เรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน พอบ้านเป็นระเบียบ ข้าวของเก็บเข้าที่ ก็ทำให้เกิดภาวะสงบอยู่ข้างใน ไม่วุ่นวาย ไม่พะว้าพะวัง ตื่นเช้ามาหาว่าชุดที่จะใส่อยู่ไหน แทนที่จะเริ่มวันแบบสงบ เปิดตู้มาก็เจอ แล้วหลักๆ เลยก็คือ พอบ้านเรียบร้อยคนก็อยากอยู่บ้าน

นุ้ย : ใช่ อยากอยู่บ้านมากขึ้นนี่ชัวร์ๆ

| การจัดระบบให้กับบ้าน เหมือนเป็นการจัดระบบพฤติกรรมของคนในบ้านด้วยไหม

นุ้ย : แน่นอนค่ะ

ชื่น : การจัดระบบต่างๆ ในบ้าน หลายอย่างเป็นการใช้หลักจิตวิทยา อย่างการติดป้าย ติดฉลากบอกเลยว่าตู้นี้เก็บอะไร กล่องนี้เก็บอะไร สิ่งเหล่านี้ คือ การสื่อสารทางจิตวิทยา ตอกย้ำว่าเราหยิบอะไรออกไปจากตรงไหน ก็ต้องเก็บตรงนั้นนะ แล้วก็สื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวทุกคน เพราะบ้าน 1 หลัง ก็อยู่กันหลายคน จะได้ไม่ต้องพูดกันซ้ำๆ ช่วยปรับพฤติกรรมได้ระดับหนึ่ง เวลาเราทำงานเซ็ตระบบบ้านใหม่ เราจะบอกลูกค้าว่า ลองปรับตัวใช้ชีวิตสักระยะ ถ้าอะไรไม่ตอบโจทย์ ก็ลองปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์เราได้ หรือเวลาผ่าน ช่วงวัยเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน กิจกรรมเปลี่ยน มันก็อาจต้องมีการมาจัดบ้านกันใหม่ ให้มันเหมาะสมกับพฤติกรรม ช่วงอายุ ช่วงวัย และกิจกรรม

 นุ้ย : ลูกค้าหลายคนตอนที่ยังไม่ได้จัดบ้านก็ชินที่จะอยู่กับความรก แต่พอจัดบ้าน เห็นบ้านเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่อยากกลับมารกอีก อย่างที่เราไปจัดบ้านให้คุณว่าน ธนกฤต คุณว่านก็บอกว่า ตั้งใจเลยว่าอย่างน้อยครึ่งปี ต้องให้คงอยู่ในสภาพนี้ เหมือนเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเขาว่า เขาอยากจะมีบ้านที่เป็นระเบียบอย่างนี้ อยู่ในสภาพนี้ไป เมื่อแรงบันดาลใจมันมาพฤติกรรมมันก็เปลี่ยน 

| ในมุมของคนที่ทำงานจัดบ้าน คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุของบ้านรก

นุ้ย : เหตุผลที่ทำให้บ้านรกทั้งหมดทั้งมวล มาจากสาเหตุหลักใหญ่ๆ 2 อย่าง คือ 1. ของมีมากกว่าที่เก็บ 2. ของหมวดหมู่เดียวกันไปเก็บในหลายๆ ที่ กระจัดกระจายไปหมด สำหรับของมีมากกว่าที่เก็บก็มีหลายสาเหตุ ตั้งแต่ที่เก็บอาจจะน้อยจริงๆ บางคนไปคิดว่า ตัวเองมีปัญหาหรือเปล่า บางที่ไม่ใช่นะคะ แค่ตู้น้อย (หัวเราะ)  อาจจะแก้ปัญหาด้วยการซื้อตู้ก็จบ สองคือ ติดซื้อของ ไม่ชอบทิ้ง เสียดาย มีผู้สูงอายุ ก็จะชอบบอกว่าเผื่อได้ใช้ คำนี้ ได้ยินตลอด

ชื่น : เวลาเราเจอลูกค้าตอบว่า เผื่อได้ใช้ เราก็จะถามลูกค้าตลอดว่า แล้วตกลงได้ใช้ไหม เราต้องบอกลูกค้าว่า เราไม่ใช่ผู้วิเศษที่เข้าไปเสกบ้านแบบปิ๊งแว้บ แล้วทุกอย่างจะเข้าที่ ก็จะคุยกับลูกค้าว่า ถ้าไม่ลดปริมาณของก็ต้องเพิ่มที่เก็บ ซึ่งโจทย์ก็คือ สมมติถ้าพื้นที่จำกัด เพิ่มเฟอร์นิเจอร์หรือที่เก็บไม่ได้ เราก็ต้องตัดใจ

นุ้ย : กรณีที่ของมากกว่าที่เก็บที่มีอยู่ อาจจะมาจากสาเหตุว่า เครียดแล้วชอบช็อปปิ้ง หรือกระทั่งเป็นโรคทางจิตเวชก็เป็นไปได้ สาเหตุที่สองก็คือ เอาของหมวดเดียวกัน กระจายไปทุกที่ เช่น สายชาร์จมือถือวางทั่วไปหมดเลย ก็หาไม่เจอไหมคะ พอเรากระจายไปทุกที่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือหาไม่เจอ พอหาไม่เจอก็เลยซื้อเพิ่ม ซื้อซ้ำไปเรื่อย หรือรื้อข้าวของเพื่อหา มันก็รก สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้บ้านรกก็ประมาณนี้ 

| ถ้าของมากกว่าที่เก็บ แต่ลูกค้าไม่ยอมทิ้ง รับมือยังไง

นุ้ย : ก็มีลูกค้าที่ไม่ยอมทิ้ง แต่เราก็ไม่บังคับนะคะ สุดท้าย ไม่ว่าจะตกแต่งภายในหรือจัดบ้าน บ้านของคุณก็คือบ้านของคุณ ถ้าเราไปบังคับให้ทิ้ง แล้วเขานอนร้องไห้ 3 วัน 7 วัน มันจะเป็นบ้านที่ดีของเขาจริงๆ เหรอ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ยอมทิ้งจริงๆ เราก็หาวิธีจัดเก็บให้ 

 

หรือวิธีง่ายที่สุดก็คือ การส่งต่อค่ะ เอาของที่เราไม่ใช้ ส่งต่อเพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่น อันนี้คือวิธีทำใจที่ง่ายที่สุด แล้วง่ายกว่านั้น คือ การส่งต่อให้คนที่รู้จัก

ชื่น : บางทีลูกค้ามีของที่มีมูลค่า เราก็บอกว่า พอถึงเทศกาลวันเกิด ปีใหม่ เราก็ช็อปปิ้งของในบ้านเลย อาจจะคัดแยกไว้เลยว่าเป็นของที่เราไม่ใช้ สภาพดีและอยากส่งต่อ เราก็ให้ไอเดียเขาว่าส่งต่อได้นะ บางทีให้คิดว่า ของที่เราส่งต่อไป มันไปเป็นประโยชน์กับคนอื่นมากกว่ามานอนอยู่นิ่งๆ ในบ้านเรา มันอาจจะทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากกว่าก็ได้ แต่สุดท้าย เราเคารพการตัดสินใจของลูกค้า ถ้าเขาจะเก็บ ชื่นกับทีมก็จะหาที่เก็บให้

นุ้ย : แต่สุดท้ายลูกค้าก็จะเห็นเองนะว่า ที่เก็บไว้ ไม่เคยแตะตรงนั้นเลย เขาก็จะค่อยๆ Let Go ได้เอง สิ่งที่เราวางระบบให้ ปลายทางก็ทำให้เขาเข้าใจว่าต้องปล่อยวาง เหมือนทุกอย่างในชีวิตที่ในที่สุดก็ต้อง Let go


ชื่น : ในกระบวนการหนึ่งของเรา เวลาเรารื้อของทั้งหมดออกมา ลูกค้าจะตกใจว่ามีของเยอะขนาดนี้เลยเหรอ หลายๆ บ้านลูกค้าจะอึ้งกับของของตัวเอง เราเลยต้องรื้อของทั้งหมดออกมาในคราวเดียว เพื่อทำให้เขาประจักษ์ว่า สุดท้าย ฉันมีของเท่านี้เลยนะ เขาก็จะเริ่มรู้แล้วนะว่า เขามีเยอะเกินไปจริงๆ เพราะถ้าเขาไม่เห็นของทั้งหมดในคราวเดียว แทบจะไม่ประจักษ์เลยว่าเรามีอะไร เท่าไร

| คิดว่าการจัดบ้านของเราช่วยให้ชีวิตของลูกค้าง่ายขึ้นอย่างไรบ้าง

ชื่น : ลูกค้าบางคนบ้านเป็นระเบียบมากนะคะ แต่เขาต้องการระบบ เค้าจะพูดเลยว่า พี่เป็นระเบียบ แต่พี่ต้องการระบบเพิ่ม ช่วยคิดให้หน่อย แล้วบางทีเราไปคิดให้ เขาก็คิดไม่ถึงนะ หรือมีแม้กระทั่ง ไม่มีเวลาในหลายๆ ครอบครัว คุณแม่มีลูกหลายคนต้องมีกิจวัตร ทำงาน รับส่งลูก ข้าวของเริ่มเยอะ อยากให้เราช่วย Declutter ของออก ทำยังไงให้พื้นที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นระบบได้

นุ้ย : หรือบางทีเขาก็อยากให้เราเป็นคนกลาง ตัดสินใจไม่ได้ ให้คนนอกมาช่วยง่ายสุด

ชื่น : จะมีบ้านที่มีตายาย แม่พ่อ และลูก พอเราเซ็ตระบบให้ แม่ก็จะบอกว่า ตายายมาดูนะ ต่อไปนี้ ใช้อะไรเก็บตามตู้นี้ที่เขาวางไว้ให้ พอเขาพูด ตาหยิบอันนี้ออกไป ก็เอาไปเก็บที่หนึ่ง ยายเก็บที่หนึ่ง มันทำให้คนใกล้ชิดพูดกันเองก็กระทบกระทั่งกันได้ แต่ถ้าคนกลางพูดหรือบอก มันก็อาจจะเป็นมุมกลางๆ ที่ไม่ได้เป็นการตำหนิติเตียนใคร 

นุ้ย : หรือบางบ้านจัดเองแล้วไม่สำเร็จ จริงๆ มันเป็นงานหนักนะคะ เป็นงานที่แบบสมมติว่า ถ้าเราเอาของออกมากองทั้งหมดมันก็ท้อตั้งแต่จุดนั้นแล้วอะค่ะ หรือถ้าต้องทิ้งของ ให้ลูกค้าจัดเอง เขาก็จะไม่กล้าทิ้ง พอมีเรา ก็แนะนำที่บริจาค ก็นำไปส่งต่อให้ หรือทำให้เขาตัดใจง่ายขึ้น 

อีกอย่างคือเราช่วยจัดแปลนบ้านให้ควบคู่ไปด้วย เพราะในทีม นอกจากนักจัดบ้านแล้ว ก็ยังมี Interior Design ที่ช่วยแพลนด้วย อย่างบ้านเก่าๆ Floor Plan ผิดที่ผิดทางไปหมด โต๊ะกินข้าวจะถูกดันไปติดผนัง ซึ่งตามหลักสถาปัตยกรรม Circulation มันต้องวนรอบโต๊ะ เพราะถ้าดันไปติดผนัง ด้านที่ติดผนังจะกลายเป็นที่วางของ แล้วเคยสังเกตไหม เกือบทุกบ้าน จุดที่้เริ่มรกเป็นที่แรก คือ เริ่มจากโต๊ะกินข้าวก่อน เพราะว่าเราเดินเข้ามาในบ้าน เราไม่มีที่วาง เราเลยไปวางโต๊ะกินข้าว 

เคล็ดลับเพื่อแก้ปัญหานี้ คือ เราต้องสร้างง่ายๆ เลยเรียกว่า Drop Off Area คือ เหมือนเป็นที่แลนดิ้งของกุญแจ กระเป๋าตังค์ ถุงช็อปปิ้ง ลองไปทำที่บ้านดู ช่วยได้เยอะมากๆ แล้วคล้ายๆ กับว่า เราต้องสัญญากับตัวเองว่า มันจะต้องไม่กองเกินไปจากตรงนี้นะ เราต้องเคลียร์มัน ก็จะเป็นจุดที่บางทีลูกค้าก็นึกไม่ถึง แต่ว่ามันเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยได้ 

| จริงไหมว่าบ้านที่สวยๆ ส่วนใหญ่วางพร็อบตกแต่ง ที่ไม่ได้ใช้งาน

นุ้ย : ของที่เราใช้วางให้สวยได้แน่นอนค่ะ  พวกของโชว์ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่พร็อบเพื่อให้สวย แต่ของที่เราใช้จริงก็เปลี่ยนพร็อบให้เป็นฟังก์ชันได้ บ้านที่อยู่มานานๆ พวกแม่เหล็กติดตู้เย็น ที่เป็นของที่ระลึกจากสถานที่ต่างๆ เวลาเราไปเที่ยว พวกนี้ก็เป็นพร็อบ แต่มีความทรงจำอยู่ในนั้น หรือผลงานศิลปะลูก โปสต์การ์ด การ์ดแต่งงานที่ได้รับเชิญ บางคนก็มีอาร์ตทอย พวกนี้ไม่ใช่ของไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะมันคือสิ่งที่เขาชอบ อะไรที่เขาทำ กันดั้ม ก็อตซิลลา ก็เป็นพร็อบแต่งบ้านได้ แล้วก็มีฟังก์ชันด้วย เพราะเป็นของที่เราใช้ ของที่เราชอบ 

ชื่น :  การรับรู้ของคนเราจะชอบคิดว่า ความสวยงาม เป็นเรื่องของอาร์ต หรือ ดีไซน์ แต่ไม่ได้คิดถึงฟังก์ชัน ซึ่งจริงๆ แล้ว ของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มันคือฟังก์ชันที่เราดีไซน์ให้เป็นอาร์ตได้ มันมีหลักการจัดวางหรือเราเลือกคอนเทนเนอร์ที่ใส่ยังไงให้สวย เป็นทั้งพร็อบ และของที่เราใช้ได้จริง เราจะมีหมวดนึงที่เรียกว่า Sentimental Items ของที่มีคุณค่าทางใจ ของสะสม ของเล่น หรือการ์ด ของเหล่านี้เป็นพร็อบแต่งบ้านได้ หลายๆ บ้านที่ไปจัด จะเก็บของสะสมไว้ในลิ้นชัก ไว้ในกล่อง เราก็บอกว่า เอามาเฟรมไหม เอามันออกมาเป็นความสุขในทุกวัน หรือของใช้พวกขวดสเปรย์แอลกอฮอล์ มันก็วางให้สวยได้ แค่มีกล่องคอนเทนเนอร์สวยๆ เหมาะกับบ้านสักอัน แค่หาบรรจุภัณฑ์ หากล่องใส่สวยๆ 

หรือมีลูกค้าอยู่คนหนึ่ง บ้านเขามีห้องที่เก็บเครื่องเขียนเต็มไปหมด ชื่นก็ถามเขาว่า อยากเปิดร้านเครื่องเขียนใช่ไหม เขาถามว่า ทำไมรู้ ชื่นก็บอกว่า เราดูออกเพราะว่าคุณ into it ไง มันคือความสุขของคุณเวลาเดินเข้าไปในร้านเครื่องเขียน ก็เลยจัดบ้านให้ห้องหนึ่งมีแต่เครื่องเขียนเต็มไปหมด หรือสะสมตุ๊กตาดิสนีย์ ซานริโอ้ เราก็จัดห้องให้เขามีทุกอย่างที่เขาชอบในนั้น เขาบอกว่า แต่ก่อนไม่อยากจะอยู่ในห้องเลย แต่พอเราจัดให้ เขาโคตรอยากจะใช้เวลาในห้องนี้มากๆ มันเหมือนได้เข้าไปในช็อป สำหรับคนอื่นมันอาจจะเป็นของอะไรไม่รู้ เป็นแค่พร็อบ แต่สำหรับคนที่ชอบ มันมีความหมาย แค่เราหาวิธีจัดวางให้เหมาะ ของในบ้านก็มีความหมายขึ้นมา 

นุ้ย : การจัดบ้านเป็นงานที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์มากๆ เพราะเราทำ Interiror มานาน เราก็รู้สึกว่า วันที่ส่งมอบงาน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีความสุขนะคะ แต่มันเทียบไมไ่ด้เลยกับการส่งมอบบ้านหลังจัดบ้าน คนแทบจะกระโดดกอดทีมงานทุกครั้ง มันเหมือนเป็นการเปลี่ยนเล็กๆ ที่สร้างอิมแพคที่ยิ่งใหญ่มหาศาล งาน Interior มันเปลี่ยนเยอะมาก จากบ้านเก่าเป็นบ้านใหม่ ใช้เงินมหาศาล เป็นล้าน สิบล้าน แต่อิมแพคที่มีกับจิตใจกลับน้อยกว่าการจัดบ้าน ซึ่งนุ้ยว่ามันเป็นอะไรที่ดีมาก


ชื่น : สำหรับลูกค้า เหมือนเขาเดินทางย้อนเมมโมรีกลับไป ได้เจออะไรบางอย่างที่ไม่เจอมานาน ของที่ไม่เห็นมานาน เสื้อผ้าอะไรเล็กๆ น้อยๆ รูปถ่ายวัยเด็ก ของเล่น เหมือนการเดินทางผ่านความทรงจำ go through ทุกอย่างไปด้วยกัน ก่อนจะไปข้างหน้า บ้านที่มันสร้างตัวตนเรามาจนถึงวันนี้ เรากำลังจะไปข้างหน้าแล้ว เราจะเซ็ตอัพมันยังไง ประมาณนี้ บางทีเราถามลูกค้าว่ามีอะไรที่หายไปแล้วอยากได้ เขาก็จะบอก ถ้าเราเจอก็จะรีบเอาไปให้ 

| ถ้าเลือกจัดได้เพียงห้องเดียวในบ้านจะเลือกห้องไหน

ชื่น : ห้องนอนเป็นห้องสำคัญที่สุดในบ้านเลย เพราะห้องที่เราใช้เวลานานที่สุดคือห้องนอน แม้จะแค่เอาไว้นอนหลับ แต่ก็เป็นห้องที่เราเห็นเป็นสิ่งแรกเมื่อลืมตา และสิ่งสุดท้ายก่อนหลับตา ห้องนอนเลยเป็นพื้นที่สำคัญที่สุด ถ้าถามว่ามีอะไรควรไม่ควรทำในการจัดห้องนอนไหม อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านเลย แค่เรารู้สึกว่า นี่คือห้องนอนที่ฉันอยู่แล้วมีความสุขก็พอแล้ว ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อห้ามอะไร บางคนอาจอยากมีมุมอ่านหนังสือก่อนขึ้นนอน บางคนอ่านบนเตียงแล้วหลับไป บางคนชอบดูทีวีก่อนนอน ก็มีทีวีในห้องนอนก็ได้ ให้ดูว่าอะไรที่เป็นความสุขของคุณที่จะอยู่ในห้องนอน หรือแม้กระทั่ง หลังบานตู้เสื้อผ้าแทนที่จะเปิดมาเจอบานเปล่าๆ ติดการ์ดหรืออะไรน่ารักๆ ที่มันเป็นข้อความ แรงบันดาลใจ รูปหรืออะไรที่เราดูแล้วมีความสุข เพราะมันเป็นการเริ่มต้นวัน และจบวัน สร้างบรรยากาศที่เรารู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขสงบ

นุ้ย : ขยายความจากที่คุณชื่นพูดก็คือ ใส่องค์ประกอบที่เรามีความสุขเข้าไปเยอะๆ เพราะว่าเวลาก่อนนอนหรือตอนตื่นจะได้เจอ อย่างตัวนุ้ยจะมีการ์ดวันเกิดที่แปะไว้ของแม่ เหมือนทุกวันตื่นมาจะเจอการ์ดใบนี้ของแม่ เขียนสั้นมาก แต่ก็แบบเห็นทุกวัน มีความหมาย ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำในการจัดห้องนอน ก็แค่ไม่เอาอะไรที่ทำให้เราหงุดหงิดไปวางไว้ 

ชื่น : สุดท้ายชื่นว่า มันคือการ Personalize บางคนชอบดูหนัง ดูทีวี หลับไปกับทีวี ก็ไม่เป็นไร บางคนห้ามมีเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในห้องนอนเลย ต้องการความสงบไม่มีคลื่นไฟฟ้าใดๆ ในห้องนอน ก็ทำ แค่จัดพื้นที่ให้มันตอบโจทย์ความสุขของเรา

| สำหรับคุณ หัวใจของคำว่า ‘บ้าน’ คืออะไร

นุ้ย : พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่ปลอดภัยทุกอย่างเลย ร่างกาย จิตใจ มีอะไรวิ่งกลับเข้าไปได้เสมอ กินอิ่ม นอนหลับ เป็นที่ปลอดภัย 

ชื่น : บ้านคือแหล่งชาร์จพลังงาน เหมือนแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ คิดดูว่า แต่ละวันเราออกไปทำงาน หรือกระทั่ง Work from Home คุณก็สู้รบกับอะไรไม่รู้อยู่ในบ้าน สุดท้าย บ้านควรเป็นแหล่งชาร์จพลังงานให้เรา ทำยังไงให้เราอยู่แล้วสุขสงบ ได้ชาร์จตัวเอง เพื่อกลับออกไปใช้ชีวิตต่อสู้ บางบ้านแม่ที่มีลูกก็แบบ ชาร์จไปสู้รบตบมือกับลูกไป แต่บ้านก็ยังเป็นพื้นที่ให้ความสุข เป็นสถานที่ที่สมาชิกในบ้านนึกถึงแล้วก็มีความสุข อยากกลับบ้านไปชาร์จแบต 

นุ้ย : อยากให้ทุกคนลองจัดบ้าน จะจัดเองก็ได้ เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ให้แรงกระเพื่อมมหาศาล 

สุดท้ายแล้ว การจัดบ้านอาจไม่ใช่แค่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ยังเป็นการ Personalize ความสุข ให้ตอบโจทย์ชีวิต เพราะบ้านที่แท้จริง คือสถานที่ที่เราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างสบายใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ชาร์จพลังกายและใจเพื่อให้พร้อมออกไปเผชิญโลกกว้างได้อย่างมั่นใจว่า เมื่อหมดวัน บ้านจะเป็น ‘ความสุข’ ที่เยียวยาหัวใจได้เป็นอย่างดี

บทเรียนจาก ‘วิชาคนตัวเล็ก’ หนังสือที่ชวนค้นความพิเศษใน ‘ตัวเอง’ ค่อยๆ ละทิ้งชีวิตที่หมุนรอบความคิดคนอื่น

“ฟังหูไว้หู อย่าเชื่อจนหมดใจ” ประโยคนี้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ ‘วิชาคนตัวเล็ก’ โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ไม่โน้มน้าวให้เราเชื่อทุกคำแนะนำที่ปรากฏในหนังสือ แต่ก็โน้มน้าวให้เราอ่านทุกบรรทัดตั้งแต่หน้าแรกจนจบหน้าสุดท้ายได้ในเวลาอันรวดเร็ว

อย่าเป็นคนดี เพียงเพราะมีคนดู เปลี่ยน Performative Kindness สู่ Mindful Kindness ด้วยสติรู้เท่าทัน

เคยสงสัยไหมว่าความใจดีที่แสดงออก ไม่ว่าจะจากตัวเราเองหรือจากผู้คนที่เราพบเห็น มาจากใจที่อยากช่วยเหลือจริงๆ หรือเป็นเพียงการแสดงแลกยอดไลก์

เน้นซื้อ ไม่เน้นอ่าน ชวนรู้จัก ‘Tsundoku’ ศิลปะแห่งการดองหนังสือที่แค่ได้ซื้อก็รู้สึกดี 

ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจลิสต์รายชื่อหนังสือที่ต้องการ เพื่อบุกงานหนังสือฯ เติมสต๊อกหนังสือใหม่เข้ากองดอง แต่เมื่อหันกลับมามอง เฮ้ย ที่ซื้อมาก่อนยังไม่ได้อ่าน